Rome, Treaties of (1957)

สนธิสัญญาโรม (พ.ศ. ๒๕๐๐)

สนธิสัญญาโรมเป็นสนธิสัญญา ๒ ฉบับ ที่ลงนามโดยชาติสมาชิกประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and steel Community-ECSC)* ๖ ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศสสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ ณ กรุงโรม อิตาลี สนธิสัญญาฉบับแรกเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (Treaty establishing the European Economic Community) และฉบับที่ ๒ เป็นสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (Treaty establishing the European Atomic Energy Community) สนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับนี้ทำให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community-EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community-EURATOM)* ขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๘ เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ สนธิสัญญาโรมฉบับแรกมีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานของสนธิสัญญาหลักของประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* และสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ทุกฉบับ ได้แก่ กฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act)* ค.ศ. ๑๙๘๖ สนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ค.ศ. ๑๙๙๒ สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ค.ศ. ๑๙๙๗ สนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) ค.ศ. ๒๐๐๑ และสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ค.ศ. ๒๐๐๗ ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงสนธิสัญญาโรมอย่างสั้น ๆ หรือในลักษณะที่เป็นเอกพจน์ในภาษาอังกฤษมักหมายถึงสนธิสัญญาฉบับแรกเสมอส่วนสนธิสัญญาโรมฉบับที่ ๒ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า สนธิสัญญายูราตอม (EURATOM Treaty)

 ความคิดที่จะบูรณาการเศรษฐกิจยุโรปในรูปแบบต่าง ๆ มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แต่การรวมยุโรปในรูปแบบของประชาคมเศรษฐกิจเพิ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อมีการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ซึ่งเป็นการรวมยุโรปในลักษณะของการบูรณรการเฉพาะภาคส่วน (sectoral integration) ตามแนวคิดของชอง มอนเน (Jean Monnet)* นักยุโรปนิยมที่มีชื่อเสียงในช่วงหลังสงคราม ต่อมา ในช่วงเดียวกันยังได้มีความพยายามจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community-EDC)* และ ประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี (European Political Community-EPC) ซึ่งเป็นการบูรณาการทางการเมืองและการทหารตามแนวทางของอีซีเอสซีขึ้นอีก ๒ ประชาคมแต่ประชาคมทั้งสองก็ประสบความล้มเหลวเนื่องจาก ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ รัฐสภาฝรั่งเศสไม่ผ่านการให้สัตยาบัน

 อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวนี้กลับเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้นักยุโรปนิยมและชาติสมาชิกอีซีเอสซีพยายามดำเนินการบูรณาการเศรษฐกิจของยุโรปต่อไปในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ หลังปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès-France)* นักการเมืองสังคมนิยมหัวรุนแรงซึ่งไม่สนับสนุนการรวมยุโรปและเป็นผู้ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวของอีดีซีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสในเดือนมีนาคมแล้วยาน วิลเลม เบเยิน (Jan Willem Beyen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เห็นเป็นโอกาสนำแผนเบเยิน (Beyen Plan) ซึ่งเป็นแผนจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปที่มีลักษณะเป็นทั้งตลาดร่วม (Common Market) และสหภาพศุลกากร (Customs Union) ที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เคยเสนอต่อที่ประชุมเจรจาจัดตั้งอีพีซีในช่วง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๔ แต่ล้มเหลวมาปรับปรุงและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมใหม่ และนำเสนอต่อประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเบเนลักซ์ (Benelux)* อีก ๒ ประเทศ คือ เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก เขาขอให้ประเทศเหล่านี้ร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์เสนอต่อชาติสมาชิกอื่นให้มีการขยายการบูรณาการอีซีเอสซีให้ครอบคลุมเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของยุโรปในรูปของตลาดร่วมทั่วไป ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าการบูรณาการเฉพาะภาคส่วนดังเช่นอีซีเอสซี

 เบเยินเสนอแผนนี้เพราะเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่ในขณะนั้นระบบการค้าเสรีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซี (Organization for European Economic Cooperation-OEEC)* ยังไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ภาคีสมาชิกได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากโออีอีซีจำกัดบทบาทอยู่เฉพาะการขจัดอุปสรรคทางด้านภาษีศุลกากรบางประเภทเท่านั้นโดยไม่รวมการซื้อขายของรัฐบาล การค้าของเนเธอร์แลนด์จึงไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังต้องการให้มีการจัดตั้งประชาคมหรือองค์การทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองขึ้น เพื่อสร้างพลังในการเจรจาต่อรองในลักษณะกลุ่มของประเทศภาคีสมาชิกในการประชุมของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade-GATT)* ในรอบต่าง ๆ ด้วย ในขณะเดียวกันเนเธอร์แลนด์ก็วิตกกังวลเกี่ยวกับผลของการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้าและการลงทุนระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๕๔ เพราะหากการเจรจาดังกล่าวประสบความสำเร็จก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้าของเนเธอร์แลนด์ ด้วยเหตุนี้ เนเธอร์แลนด์จึงเห็นว่าจำเป็นต้องนำฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกเข้ามาร่วมมือในการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรปเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของชาติภาคีสมาชิก แทนการปล่อยให้ประเทศทั้งสองดำเนินการในลักษณะทวิภาคีซึ่งจะได้ประโยชน์เพียง ๒ ประเทศเท่านั้น

 สูตรสำเร็จสำหรับการแก้ปัญหาอุปสรรคทางด้านภาษีตามข้อเสนอของเบเยิน คือ การจัดทำสนธิสัญญาที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพศุลกากรที่มีการลดหย่อนภาษีระหว่างประเทศภาคีสมาชิกของสหภาพตามขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยให้มีการเปิดเสรีทางการค้ากว้างขวางขึ้น ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดระบบการปกป้องทางการค้าดังเช่นในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย นอกจากนี้ ระบบสหภาพศุลกากรยังจะช่วยคํ้าประกันไม่ให้ประชาคมยุโรปยึดติดอยู่กับระบบการบูรณาการเฉพาะภาคส่วนเท่านั้น เพราะเบเยินเชื่อว่าการบูรณาการตามแบบอีซีเอสซีให้ประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจ ที่ผูกขาดการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคในวงกว้างเท่าที่ควร หลังประเทศทั้งสามพิจารณาร่วมกันแล้วก็เห็นพ้องกันว่าควรเสนอให้มีการจัดตั้งอีอีซีขึ้นในนามของกลุ่มเบเนลักซ์ โดยให้ชื่อข้อเสนอดังกล่าวว่า “บันทึกความจำของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์” (Benelux Memorandum) หรือ “ข้อเสนอของกลุ่มเบเนลักซ์” (Benelux Initiative)

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เช่นเดียวกัน มอนเนซึ่งยกร่างแผนชูมอง (Schuman Plan)* ได้เสนอแผนจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปต่อประเทศต่าง ๆ ในนามรัฐบาลฝรั่งเศสอีก ๑ แผนผ่านทางปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม แผนดังกล่าวเป็นแผนบูรณาการยุโรปในรูปแบบเดียวกันกับการบูรณาการอีซีเอสซี ด้วยเหตุนี้จึงเกิดข้อเสนอ ๒ ข้อเสนอในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของมอนเนไม่ได้รับความสนใจจากชาติสมาชิกอื่นเท่าใดนัก เพราะประเทศเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับการบูรณาการเฉพาะภาคส่วน อีกทั้งบางประเทศอย่างเช่นเยอรมนีตะวันตกยังระแวงสงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของฝรั่งเศสด้วย แต่แผนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งในฝรั่งเศสและในคณะกรรมาธิการ (High Authority) ของอีซีเอสซี ขณะเดียวกัน มอนเนก็พยายามให้ความมั่นใจแก่สหรัฐอเมริกาว่าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นพลังงานที่มีความสำคัญในอนาคต สปากซึ่งสนับสนุนทั้งแผนจัดตั้งอีอีซีและแผนจัดตั้งยูราตอมต้องการให้แผนทั้งสองประสบความสำเร็จ เขาจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานกับเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กให้รวมข้อเสนอทั้งสองเข้าในชุดเดียวกันในชื่อข้อเสนอของกลุ่มเบเนลักซ์ตามเดิม

 ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีแห่งอีซีเอสซี (Council of Ministers of the ECSC) ซึ่งคณะมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบ ทั้งยังมีมติให้นำข้อเสนอชุดนี่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมที่เมืองเมสซีนา (Messina Conference)* บนเกาะซิซิลี (Sicily) อิตาลี ซึ่งเป็นการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอีซีเอสซีที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ ๑-๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เพื่อเลือกประธานคณะกรรมาธิการคนใหม่ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากมอนเนที่หมดวาระลง พร้อมกันนั้นก็มีมติให้ตีพิมพ์รายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชนในประเทศต่าง ๆ ด้วย

 ในทันทีที่ข้อเสนอถูกเผยแพร่ออกไปได้เกิดการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความจำเป็น ความสำคัญ และข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งประชาคมทั้งสองทั้งในหมู่ประชาชน นักวิชาการ พรรคการเมือง นักธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีความเห็นแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย กล่าวคือ เยอรมนีตะวันตกและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์สนับสนุนการจัดตั้งอีอีซีมากกว่ายูราตอม ในขณะที่ฝรั่งเศสสนับสนุนยูราตอมมากกว่าอีอีซี การที่เป็นเช่นนี้เพราะเยอรมนีตะวันตกเห็นว่าอีอีซีจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของตนเป็นอย่างมากเนื่องจากเยอรมนีมีอุตสาหกรรมเป็นหลักของเศรษฐกิจทั้งยังเกรงว่าการจัดตั้งยูราตอมจะทำให้ฝรั่งเศสเข้าไปควบคุมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ของยุโรปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลเรือนและการทหารของตนเองมากกว่าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แม้ฝรั่งเศสจะยํ้าอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการจัดตั้งยูราตอมขึ้นเพื่อนำประโยชน์ ไปใช้ในทางสันติของส่วนรวมเท่านั้น ส่วนการจัดตั้งอีอีซีนั้นฝรั่งเศสก็ไม่สนับสนุนเพราะจะทำให้อุตสาหกรรมของตนไม่สามารถแข่งขันกับเยอรมนีได้ แม้จะมีข้อลดหย่อนทางด้านภาษีและเงื่อนไขต่าง ๆ ก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจของฝรั่งเศสขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่าอุตสาหกรรมหนักแบบเยอรมนีตะวันตก อย่างไรก็ดีทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกต่างก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันจัดตั้งประชาคมทั้งสองให้บรรลุผล เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการและเพื่อรักษาสัมพันธภาพระหว่างกันที่กำลังดีขึ้นหลังการจัดตั้งอีดีซีประสบความล้มเหลว [ดังจะเห็นได้จากการที่ฝรั่งเศสสนับสนุนเยอรมนีตะวันตกให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียู (Western European Union-WEU)* ที่จัดตั้งขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๕๔ และเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* หลังได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นต้น] ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ต้องการเห็นอีอีซีเกิดขึ้น จึงพร้อมใจกันเดินทางไปประชุมที่เมืองเมสซีนาตามกำหนดเวลา

 ในการประชุมดังกล่าว แม้ว่าการเลือกและแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการอีซีเอสซีคนใหม่จะเป็นระเบียบวาระสำคัญที่สุด แต่การพิจารณาเรื่องการจัดตั้งประชาคมทั้งสองซึ่งเป็นระเบียบวาระเสริมกลับกลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ครอบงำการประชุมทั้งหมด ผู้แทนประเทศทั้งหกโดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกต่างก็พยายามอภิปราย ต่อรองและตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ มากมายเพื่อให้เกิดประชาคมตามที่ตนต้องการจนมีท่าทีว่าการเจรจาอาจประสบความล้มเหลวอย่างไรก็ดี การประชุมก็ยุติลงได้ในรุ่งอรุณของวันที่ ๓ มิถุนายนด้วยการออก “มติเมสซีนา” (Messina Resolution) หรือ “ปฏิญญาเมสซีนา” (Messina Declaration) ที่ระบุอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปขึ้นเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนชาวยุโรปและเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภาคีสมาชิก ตลอดจนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพให้แก่ยุโรป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งสปากเป็นประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำรายละเอียดของการจัดตั้งประชาคมทั้งสอง

 คณะกรรมาธิการที่มีสปากเป็นประธานเริ่มดำเนินงานอย่างรวดเร็วโดยเปิดประชุมระหว่างรัฐบาลขึ้นที่ปราสาทวาลดูแชส (Vai Duchesse) ชานกรุงบรัสเซลส์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าฝรั่งเศสจะประสบปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศหลายประการ เช่น ปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลและปัญหาการเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรียซึ่งกำลังกลายเป็นสงครามแอลจีเรีย (Algerian War)* แต่ผู้แทนฝรั่งเศสก็พยายามต่อรองอย่างแข็งขันและตั้งเงื่อนไขหลายประการเพื่อทำให้ยูราตอมเกิดขึ้นก่อนอีอีซี ซึ่งผู้แทนประเทศอื่นต่างก็ไม่ยอมรับโดยง่าย ทำให้การเจรจาตึงเครียดและสะดุดลงหลายครั้ง ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๖ หลังกี มอลเล (Guy Mollet)* เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมชุดใหม่ของฝรั่งเศสแล้ว สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น เพราะมอลเลเป็นนักยุโรปนิยมที่สนับสนุนการรวมยุโรป ทั้งยังต้องการแรงสนับสนุนจากเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้น เขาจึงดำเนินนโยบายประนีประนอมมากขึ้นและแสดงท่าทีว่าจะยอมให้มีการจัดตั้งอีอีซีขึ้นพร้อม ๆ กับยูราตอม การเจรจาจึงดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็ยังปกป้องผลประโยชน์ของตนในอีอีซีไว้หลายประการ เช่น เสนอให้มีการจัดตั้งตลาดร่วมสำหรับสินค้าการเกษตรควบคู่กับการจัดตั้งตลาดร่วมสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เพราะฝรั่งเศสมีพื้นที่การเกษตรใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศทั้งหกและเคยประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงต้องการช่วยเกษตรกรพัฒนาการเกษตรและแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคตไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งช่วยกลุ่มแรงงานด้วยการปรับค่าแรงทั้งชายและหญิงให้เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบชาติสมาชิกอื่นโดยเฉพาะเยอรมนีตะวันตก และเพื่อรักษาฐานเสียงสนับสนุนภายในประเทศจากพวกเกษตรกรและกลุ่มแรงงานเอาไว้

 นอกเหนือจากการทำงานอย่างแข็งขันในระดับระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาแล้วคณะกรรมาธิการสปากยังได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรป (Action Committee for the United States of Europe) องค์กรอิสระที่มอนเนจัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรดังกล่าวซึ่งมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก จากนักวิชาการ นักธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ สหภาพแรงงานการค้า และอุตสาหกรรม ตลอดจนนักการเมืองในสังกัดกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ ของประเทศในยุโรปตะวันตก (ยกเว้นพรรคคอมมิวนิสต์) ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมาธิการทั้งในด้านการหาเสียงสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนในประเทศของตนและการป้อนข้อมูลประกอบการประชุม ในตอนแรกมอนเนต้องการใช้คณะกรรมการชุดนี้เป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการจัดตั้งยูราตอมซึ่งเขาได้คิดขึ้น แต่บรรดาสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งตลาดร่วมมากกว่า จึงให้การสนับสนุนอีอีซีมากกว่า ทำให้มอนเนต้องเปลี่ยนความคิดหันมาสนับสนุนการจัดตั้งอีอีซีด้วย

 คณะกรรมาธิการสปากทำงานเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ และจัดพิมพ์ผลการดำเนินงานหรือ “รายงานสปาก” (Spaak Report) ในเดือนเมษายนเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลประเทศทั้งหกต่อไป รายงานดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๒ ส่วนซึ่งเป็นโครงสร้างของสนธิสัญญาโรมทั้ง ๒ ฉบับ คือ ส่วนแรกซึ่งสำคัญที่สุดมีความยาว ๘๔ หน้า เป็นรายละเอียดและโครงสร้างของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะประกอบด้วยตลาดร่วมและสหภาพศุลกากร นโยบายร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าและการเกษตรรวมทั้งกองทุนสังคมที่อาจจัดตั้งขึ้น ส่วนที่ ๒ มีความยาว ๒๔ หน้า เป็นรายละเอียดการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป สปากเสนอรายงานชุดนื้ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอีซีเอสซีที่เมืองเวนิสในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ เพื่อให้ความเห็นชอบ ในที่ประชุมดังกล่าวมีเพียงรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนเดียวที่เห็นชอบให้จัดตั้งยูราตอมมากกว่าอีอีซี แม้ว่าโดยรวมแล้วฝรั่งเศสจะได้ประโยชน์จากอีอีซีเป็นอย่างมากก็ตาม ทั้งยังยืนกรานให้บันทึกในรายงานการประชุมว่าในกรณีที่จัดตั้งอีอีซีขึ้นอีอีซีจะต้องมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอดีตอาณานิคมและอาณานิคมของฝรั่งเศสในดินแดนโพ้นทะเลด้วย ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบและรับรองรายงานสปาก

 หลังจากนั้น ชาติสมาชิกทั้งหกได้จัดการประชุมระหว่างรัฐบาลขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ตั้งแต่ช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๕๖ เพื่อเจรจาจัดทำสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปรวม ๒ ฉบับโดยใช้รายงานสปากเป็นพื้นฐาน ในการเจรจาดังกล่าวแม้ว่าผู้แทนประเทศทั้งหกโดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกจะตั้งเงื่อนไขและต่อรองกันอย่างมากก็ตาม แต่การเจรจาก็เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะความสามารถเป็นพิเศษของสปากประธานการประชุมซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยประนีประนอมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทุกชาติสมาชิก และการทำงานอย่างหนักของผู้แทนทุกประเทศ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จนี้ ปัจจัยแรก ได้แก่ ความล้มเหลวของปฏิบัติการทำงทหารของฝรั่งเศสกับอังกฤษในวิกฤตการณ์ คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ในปลายเดือนตุลาคมต่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ทำให้ฝรั่งเศสต้องหันมามุ่งเน้นบทบาทในยุโรปโดยจัดตั้งประชาคมทั้งสองให้สำเร็จโดยเร็วเพื่อใช้เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของตนและเพื่อแก้ปัญหาพลังงานที่ต้องพึ่งพาประเทศตะวันออกกลางเป็นอย่างมากให้ลดน้อยลง วิกฤตการณ์คลองสุเอซยังทำให้ฝรั่งเศสตระหนักดีว่าเยอรมนีตะวันตกจะเป็นเพียงประเทศเดียวบนภาคพื้นทวีปยุโรปที่ตนสามารถพึ่งพิงได้เพราะคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกได้แสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายของฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ทั้งยังเดินทางไปพบมอลเลเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ณ กรุงปารีสในต้นเดือนพฤศจิกายนในช่วงที่วิกฤตการณ์กำลังร้อนแรงถึงจุดสูงสุดตามกำหนดการเดิมทั้ง ๆ ที่เขาอาจงดการเดินทางเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

 นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในของประเทศทั้งสองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกหันมาร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมทั้งสองบรรลุผลก่อนการพันจากตำแหน่งของมอลเลในกรณีที่เขาไม่สามารถแก้ปัญหาแอลจีเรียได้และของอาเดเนาร์ในกรณีที่เขาแพ้การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๗ อีกทั้งการปราบปรามอย่างทารุณของสหภาพโซเวียตในเหตุการณ์การจลาจลในโปแลนด์และการลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ก็มีส่วนช่วยให้การจัดทำสนธิสัญญาโรมทั้ง ๒ ฉบับประสบความสำเร็จในทางอ้อมเพราะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตกลดการโจมตีการจัดตั้งประชาคมยุโรปลงไปมาก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น อีกทั้งการที่สหภาพโซเวียตแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในช่วงเดียวกันว่าจะไม่ยอมให้การรวมเยอรมนีเกิดขึ้นโดยเร็วก็มีส่วนทำให้อาเดเนาร์หันมาตอบสนองข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสมากขึ้นในการเจรจาขั้นสุดท้ายเยอรมนีตะวันตกจึงยอมให้มีการจัดตั้งยูราตอมขึ้นพร้อม ๆ กับอีอีซีโดยให้ฝรั่งเศสมีบทบาทนำในยูราตอมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจัดตั้งอีอีซีขึ้น ให้มีนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy-CAP) เพื่อจัดตั้งตลาดร่วมสำหรับสินค้าการเกษตรในอีอีซีตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสซึ่งจะทำให้เยอรมนีสามารถพัฒนาการเกษตรของตนให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยให้สนธิสัญญาโรมมีการระบุความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างชาติสมาชิกกับอดีตอาณานิคมและอาณานิคมโพ้นทะเล ให้มีการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของชายและหญิงในอีอีซีให้เท่าเทียมกัน และให้จัดตั้งกองทุนสังคมยุโรป (European Social Fund) และธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank) ตามข้อเสนอของอิตาลีและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ การจัดทำสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปทั้ง ๒ ฉบับจึงเสร็จสิ้นลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๗

 ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกทั้งหกได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ ณ ตึกรัฐสภาอิตาลีในกรุงโรม นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการบูรณาการยุโรป ต่อจากนั้นสนธิสัญญาเหล่านี้ก็ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาชาติสมาชิกเพื่อให้สัตยาบัน ฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกเป็น ๒ ประเทศแรก ที่ให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาทั้งสองในเดือนกรกฎาคมตามมาด้วยกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ส่วนอิตาลีให้สัตยาบันเป็นประเทศสุดท้ายในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ สนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับจึงมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๘

 สนธิสัญญาโรมฉบับแรกหรือสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปประกอบด้วยอารัมภบท ตัวบทที่เป็นมาตราต่าง ๆ รวม ๒๔๘ มาตรา และภาคผนวกแนบท้ายในอารัมภบทนอกจากการแสดงเจตนารมณ์ที่จะสร้าง “สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง” ให้แก่ยุโรปในด้านต่าง ๆ แล้ว ประเทศทั้งหกยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะ “สถาปนาพื้นฐานแห่งการบูรณาการยุโรปให้เป็นสหภาพของประชาชาติต่าง ๆ ที่มีความใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคยเป็นมา” ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดตั้งอีอีซี มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางการเมืองรวมอยู่ด้วย

 ส่วนสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในมาตราต่าง ๆ ของสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้แก่ การกำหนดให้มีการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรปขึ้นเพื่อให้ชาติสมาชิกได้ดำเนินกิจกรรมและพัฒนานโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าร่วมกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การจัดให้มีการเคลื่อนย้ายของทุน แรงงาน และบริการภายในประชาคมอย่างเสรี รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสหภาพศุลกากรขึ้นโดยให้มีการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งอุปสรรคทางด้านภาษีและอุปสรรคที่มิใช่ภาษีตามขั้นตอนต่าง ๆ ภายในระยะเวลา ๑๒ ปี นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งนโยบายร่วมด้านการค้า นโยบายร่วมด้านการเกษตรนโยบายร่วมด้านการขนส่ง และนโยบายร่วมด้านการแข่งขันเพื่อคํ้าประกันว่าการแข่งขันทางการค้าระหว่างภาคีสมาชิกจะไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของตลาดร่วมถูกบิดเบือนไป รวมทั้งให้มีการจัดทำระบบการประสานนโยบายทางด้านการเงินของชาติสมาชิก ตลอดจนให้มีการจัดตั้งกองทุนสังคมยุโรปขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการจ้างงานและการเข้าทำงานของลูกจ้างและช่วยเหลือปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น ทั้งยังให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรปขึ้นเพื่อให้ความสะดวกในการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ให้แก่ประชาคม รวมทั้งการจัดหาเงินกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยในอัตราตํ่าให้แก่โครงการเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ สนธิสัญญายังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งระบบความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมกับประเทศและดินแดนโพ้นทะเลเพื่อขยายการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

 สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่สนธิสัญญาได้กำหนดให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปสถาปนาองค์กรหลักเพื่อดำเนินงานของประชาคมขึ้น ๔ องค์กร คือ ๑) สมัชชา (Assembly) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นรัฐสภายุโรปหรืออีพี (European Parliament-EP) ๒) คณะมนตรี (Council) ซึ่งเมื่อสถาปนาอีอีซีขึ้นแล้วมีชื่อเต็มว่าคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers of the EC) คณะมนตรีนี้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการตัดสินใจทางนิติบัญญัติของประชาคม ๓) คณะกรรมาธิการ (Commission) ซึ่งต่อมามีชื่อเต็มว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือรัฐและเป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของชาติสมาชิกในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น หน่วยงานนี้เป็นผู้บริหารสูงสุดของประชาคมที่มีอำนาจหน้าที่ในการยื่นข้อเสนอหรือข้อริเริ่มทางด้านนิติบัญญัติต่อคณะมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป และ ๔) ศาล (Court) ซึ่งพัฒนามาเป็นศาลยุติธรรมยุโรปหรืออีซีเจ (European Court of Justice-ECJ) นอกจากนี้ สนธิสัญญายังได้กำหนดวิธีการออกเสียงในกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปไว้ด้วย ส่วนท้ายของสนธิสัญญาเป็นภาคผนวกที่รวมอนุสัญญา พิธีสารคำประกาศ และปฏิญญาต่าง ๆ รวมทั้งบัญชีรายชื่อดินแดนโพ้นทะเลที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อความในตัวบทสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่มีการกำหนดอายุของสนธิสัญญา ดังเช่น สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris)* ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายครั้ง

 สำหรับสนธิสัญญาโรมฉบับที่ ๒ หรือสนธิสัญญายูราตอมนั้นมีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับสนธิสัญญาโรมฉบับแรก คือ ประกอบด้วยอารัมภบท บทบัญญัติ ๒๓๔ มาตรา และภาคผนวก ในอารัมภบทชาติสมาชิกได้แสดงความตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ และได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปขึ้นเพื่อนำพลังงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลเรือนในทางสันติเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งยังได้แสดงความประสงค์ที่จะร่วมมือและประสานงานกับประเทศอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ไนทางสันติด้วย

 ส่วนในบทบัญญัติ สนธิสัญญาได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของยูราตอมไว้ในมาตราต้น ๆ ว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อนำอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของชาติสมาชิกเข้ามารวมไว้ด้วยกันภายใต้ระบบการบูรณาการ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน และเพื่อช่วยยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศภาคีสมาชิกให้สูงขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ และได้กำหนดภาระงานหลักอันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของประชาคมไว้ ๗ เรื่องด้วยกัน คือ ๑) ส่งเสริมการวิจัยทางด้านนิวเคลียร์และจัดการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการ ๒) จัดตั้งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของคนงานและสาธารณชนทั่วไป ทั้งยังต้องมีการคํ้าประกันว่ามาตรฐานเหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้อย่างถูกวิธี ๓) ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือการลงทุนทางด้านนิวเคลียร์แก่ชาติสมาชิก ๔) จัดให้มีการส่งสินแร่และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แก่ชาติสมาชิกอย่างเพียงพอและสมํ่าเสมอ ๕) ให้การคํ้าประกันว่าวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือนิวเคลียร์ทุกชนิดจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ๖) จัดหาแหล่งส่งออกและนำเข้าวิทยาการวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเฉพาะด้านให้แก่ชาติสมาชิก และ ๗) จัดตั้งและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในทางสันติ อย่างไรก็ดี หลังจัดตั้งยูราตอมขึ้นแล้วบทบาทในเรื่องเหล่านี้หลายเรื่องก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ เพราะชาติสมาชิกหลายประเทศเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับตน และการใช้น้ำมันถูกกว่าการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ อีกทั้งการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น ทำให้ประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปในเวลาต่อมาถูกวิจารณ์ว่าเป็นเสมือนศูนย์กลางการทำวิจัย การผลิต และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางด้านนิวเคลียร์ระหว่างชาติสมาชิกเท่านั้น

 นอกจากนี้ สนธิสัญญายังได้กำหนดโครงสร้างของยูราตอมไว้ด้วยโดยให้ประกอบด้วยองค์กรหลัก ๔ องค์กร เช่นเดียวกับอีอีซี คือ ให้มีคณะมนตรีและคณะกรรมาธิการเป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่ให้ใช้รัฐสภาและศาลยุติธรรมยุโรปร่วมกับอีอีซีและอีซีเอสซี รวมทั้งได้กำหนดหน่วยงานเฉพาะด้านไว้อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักการอำนาจหน้าที่ และวิธีการดำเนินงานขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ของยูราตอมไว้อย่างชัดเจน สำหรับสมาชิกภาพนั้นให้สมาชิกของอีอีซีทุกประเทศเป็นสมาชิกของยูราตอมโดยอัตโนมัติ มาตรานี้ได้ถูกนำมาใช้กับประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นสมาชิกของสหภาพยุโรปทุกประเทศจึงเป็นสมาชิกของยูราตอมด้วย ส่วนท้ายของสนธิสัญญาเป็นภาคผนวก ๕ ภาค ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาขาการวิจัย กิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์บัญชีรายการวัสดุ อุปกรณ์และสินค้านิวเคลียร์ การฝึกอบรมและกิจกรรมทางวิชาการ รวมทั้งพิธีสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆ สนธิสัญญาฉบับนี้ไม่มีการกำหนดอายุเช่นเดียวกับสนธิสัญญาอีอีซีแต่แตกต่างกันตรงที่ไม่เคยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่สำคัญแต่ประการใดจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในช่วง ๕ ทศวรรษที่ผ่านมากรอบของการดำเนินงานและบทบาทของยูราตอมในหลาย ๆ เรื่องจะได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากความคิดเห็นของสาธารณชนในประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อความสำคัญและผลกระทบของการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากจุดเริ่มต้นที่มีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้มีการต่อต้านการมีและการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง สหภาพยุโรปจึงเกรงว่าการแก้ไขสนธิสัญญาอาจทำให้สหภาพได้รับผลกระทบจากการต่อต้านเหล่านี้ด้วย

 อย่างไรก็ดี เมื่อสนธิสัญญาโรมทั้ง ๒ ฉบับมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้เกิดประชาคมยุโรปขึ้นอีก ๒ ประชาคม คือ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป และเมื่อนำมารวมเข้ากับประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๒ แล้วก็ทำให้ยุโรปตะวันตกมีประชาคมที่เป็นการบูรณาการ รวม ๓ ประชาคมโดยมีประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเป็นประชาคมหลักซึ่งใหญ่และสำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาคมยุโรปทั้งหมดเนื่องจากครอบคลุมเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกทุกภาคส่วน ในขณะที่ประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ที่ทำงานทางด้านนิวเคลียร์โดยเฉพาะเท่านั้น ประชาคมทั้งสามดำเนินงานโดยแยกกันจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๗ จึงได้รวมเป็นประชาคมเดียวกันในชื่อประชาคมยุโรปเมื่อสนธิสัญญาจัดตั้งคณะมนตรีและคณะกรรมาธิการเพียงชุดเดียวแห่งประชาคมยุโรป (Treaty Establishing a Single Council and a Single Commission of the European Communities) หรือสนธิสัญญารวมประชาคม (Merger Treaty) ค.ศ. ๑๙๖๕ มีผลบังคับใช้ นับแต่นั้นมาจึงไม่มีการใช้คำว่าประชาคมเศรษฐกิจยุโรปอีกต่อไป

 นับแต่การลงนามใน ค.ศ. ๑๙๕๗ สนธิสัญญาโรมฉบับจัดตั้งอีอีซีได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายครั้ง แต่การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งใหญ่ที่นับว่ามีความสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๘๖ เมื่อมีการจัดทำกฎหมายยุโรปตลาดเดียว โดยได้เพิ่มเติมสาระสำคัญ ๆ ในสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้แก่ การขยายขอบเขตของการใช้วิธีการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไข (qualified majority voting) ในคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปให้กว้างขวางมากขึ้น การเพิ่มพูนบทบาทของรัฐสภายุโรปในเรื่องการอนุมัติและการตรวจสอบงบประมาณของประชาคมยุโรปร่วมกับคณะมนตรี การขยายบทบาทและอำนาจของประชาคมยุโรปในด้านต่าง ๆ และเพิ่มมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวกับสวัสดีภาพในการทำงานและสวัสดิการทางสังคมของแรงงานในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการกำหนดมาตรการสำหรับการรวมตลาดร่วมให้เป็นตลาดเดียวแห่งยุโรปให้เสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้น ค.ศ. ๑๙๙๒ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๓ หลังสนธิสัญญามาสตริกต์หรือสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (Treaty on European Union)* มีผลบังคับใช้แล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาโรมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสนธิสัญญามาสตริกต์ได้นำส่วนที่เป็นประชาคมยุโรปเดิมทั้งหมดและสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป (Economic and Monetary Union-EMU) รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่มารวมไว้ในเสาหลักที่ ๑ (First Pillar) ของสหภาพยุโรป โดยให้ประชาคมยุโรปซึ่งเป็นระบบเหนือรัฐมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากเสาหลักที่ ๒ และที่ ๓ (Second and Third Pillar) ของสหภาพซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิก ทั้งยังได้มีการเปลี่ยนชื่อสนธิสัญญาโรมหรือสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยประชาคมยุโรปหรือทีอีซี (Treaty on European Community-TEC)*

 ในการจัดทำสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งเป็นการแก้ไขสนธิสัญญามาสตริกต์ครั้งแรก ก็ได้มีการนำสนธิสัญญาทีอีซีมาใช้เป็นหลักประกอบการพิจารณาด้วยและมีการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาฉบับนี้บรรจุไว้ในสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องการขยายอำนาจของสหภาพยุโรปโดยการจัดตั้งนโยบายการจ้างงานการถ่ายโอนอำนาจในการดำเนินกิจกรรมบางเรื่องของกิจการยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs) ซึ่งเดิมอยู่ในเสาหลักที่ ๓ ให้เข้ามาอยู่ในระบบของประชาคมยุโรป การขยายขอบเขตการใช้วิธีการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในคณะมนตรี การเพิ่มมาตรการที่จะทำให้พลเมืองสหภาพยุโรปมีความใกล้ชิดกับสหภาพมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มบทบาทและอำนาจของรัฐสภายุโรปในกระบวนการตัดสินใจทางนิติบัญญัติร่วมกับคณะมนตรีมากขึ้น

 ต่อมา ในการจัดทำสนธิสัญญานีซ ค.ศ. ๒๐๐๑ ก็ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาทีอีซีอีกครั้งโดยได้ปรับเปลี่ยนจำนวนกรรมาธิการและปรับปรุงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการยุโรปใหม่ มีการปรับปรุงจำนวนและนํ้าหนักของคะแนนเสียงของแต่ละชาติสมาชิกในคณะมนตรีรวมทั้งมีการจัดสรรจำนวนผู้แทนรัฐสภายุโรปจากชาติสมาชิกแต่ละชาติใหม่ทั้งหมดทั้งจากชาติสมาชิกเดิมและที่จะเข้ามาใหม่ เพื่อให้สถาบันของสหภาพยุโรปสามารถรองรับสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐสภายุโรปในกระบวนการตัดสินใจร่วมกับคณะมนตรีและปรับปรุงระบบการศาลยุติธรรมยุโรปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ เมื่อมีการจัดทำสนธิสัญญาลิสบอนหรือสนธิสัญญาปฏิรูป (Reform Treaty) เพื่อนำมาใช้แทนสนธิสัญญาจัดตั้งรัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป (Treaty Establishing a Constitution for Europe) ที่ถูกยกเลิกไปเพราะไม่ผ่านการให้สัตยาบันจากชาติสมาชิกหลักก็ได้มีการนำสนธิสัญญาทีอีซีมาแก้ไขควบคู่กับสนธิสัญญามาสตริกต์ และหลังจากสนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๒๐๐๙ สนธิสัญญาทีอีซีก็ได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสนธิสัญญาลิสบอนได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ในสนธิสัญญามาสตริกต์หลายตำแหน่งรวมทั้งได้มีการยกเลิกระบบเสาหลักทั้งสามของสหภาพยุโรปโดยให้สหภาพยุโรปมีสถานะเป็นนิติบุคคลร่วมกันทั้งหมด ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาโรมในสาระที่สำคัญ ๆ หลายเรื่อง ทั้งยังได้เปลี่ยนชื่อสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินงานของสหภาพยุโรปหรือทีเอฟอียู (Treaty on the Functioning of the European Union-TFEU) ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ยังได้มีการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา ๑๓๖ ของสนธิสัญญาฉบับนี้อีก ๑ ย่อหน้า ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยการจัดตั้งกลไกสำหรับการสร้างเสถียรภาพทางการเงินของเขตการใช้เงินยูโร (Eurozone) นับว่าสนธิสัญญาโรมฉบับแรกได้เปลี่ยนโฉมหน้าและพัฒนาไปจากเดิมเป็นอย่างมาก.



คำตั้ง
Rome, Treaties of
คำเทียบ
สนธิสัญญาโรม
คำสำคัญ
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- การประชุมที่เมืองเมสซีนา
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- เขตการใช้เงินยูโร
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- คณะกรรมาธิการสปาก
- คณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป
- เงินยูโร
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- ตลาดร่วมยุโรป
- ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป
- นโยบายร่วมด้านการเกษตร
- นักยุโรปนิยม
- เบเยิน, ยาน วิลเลม
- ปฏิญญาเมสซีนา
- ประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี
- แผนชูมอง
- แผนเบเยิน
- มติเมสซีนา
- มองแดส-ฟรองซ์, ปีแยร์
- มอนเน, ชอง
- มอลเล, กี
- เยอรมนีตะวันตก
- ระบบเหนือรัฐ
- รัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป
- รัฐสภายุโรป
- รายงานสปาก
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- ศาลยุติธรรมยุโรป
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามแอลจีเรีย
- สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป
- สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- สนธิสัญญานีซ
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สนธิสัญญายูราตอม
- สนธิสัญญารวมประชาคม
- สนธิสัญญาโรม
- สนธิสัญญาลิสบอน
- สนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- สปาก, ปอล-อองรี
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- สหภาพศุลกากร
- สหรัฐแห่งยุโรป
- อาเดเนาร์, คอนราด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1957
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๕๐๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-